นำเรื่องเสริม เติมความรู้ บทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก

บทละครพูด เรื่องเห็นแก่ลูก
หนังสือวรรณคดีวิจักษ์ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๕๔ ให้ความหมายว่า ละครพูด ไว้ว่า น.ละครแบบหนึ่ง รับอิทธิพลมาจากละครแบบยุโรป ตัวละครพูดบทของตนในการดำเนินเรื่อง อาจจะพูดเป็นถ้อยคำธรรมดา คำกลอน คำฉันท์ มีการจัดฉากและแต่งกายตามสมัยที่ปรากฏในเรื่อง เช่น ละครพูดเรื่องหัวใจนักรบ ละครพูดคำกลอนเรื่องพระร่วง ละครพูดคำฉันท์เรื่องมัทนะพาธา รวมไปถึงบทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูกด้วย



ประวัติผู้แต่ง
          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ พระองค์ทรงเป็นอีกหนึ่งพระราชโอรสที่ทรงศึกษาต่อต่างประเทศในด้านวิชาพลเรือน และวิชาการทหาร หลังเสด็จเสวยราชย์เป็นมหากษัตริย์องค์ที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้ก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศเช่นเดียวกับพระราชบิดา ผลงานการประพันธ์ของพระองค์มีหลายประเภท เพราะทรงเชี่ยวชาญทางอักษรศาสตร์ จึงเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งยุคทองทางวรรณกรรมและวรรณคดี พระราชนิพนธ์ของพระองค์จึงมีพระนามแฝงมากมาย เช่น ศรีอยุธยา พระขรรค์เพชร อัศวพาหุ นายแก้วนายขวัญ เป็นต้น พระองค์ได้รับการถวายพระเกียรติว่า ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดละครพูดเพราะทรงเป็นผู้ก่อตั้ง ทวีปัญญาสโมสรและ สามัคยาจารย์สโมสรเพื่อแสดงละครพูดแบบใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก ขณะนั้นใช้ชื่อเรียกว่า ละครทวีปัญญาแต่ต่อมาก็ได้ตั้งชื่อใหม่เป็นหลักฐานว่า คณะศรีอยุธยาตามพระนามแฝงของรัชกาลที่ ๖ ที่ใช้พระราชนิพนธ์บทละครพูด
บทละครพูดเริ่มมีในประเทศไทยตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ได้รับความนิยมแพร่หลายและเจริญสูงสุดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงโปรดการละครเป็นอย่างยิ่ง และได้ทอดพระเนตรละครและทรงแสดงละครอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่ยังทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ และด้วยพระปรีชาสามารถยอดเยี่ยมทางอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีเรื่องต่าง ๆ รวมไปถึงบทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก ทรงใช้พระนามแฝงว่า พระขรรค์เพชร”  ซึ่งเรื่องเห็นแก่ลูกเป็นบทละครพูดที่มีขนาดสั้น มีความยาวเพียงองก์เดียว คือ ตอนหนึ่ง ๆ ในบทละคร และมีฉากเดียวในพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ได้แก่ฉากห้องหนังสือ ( กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๖๑:๑๙ )
          บทละครพูดเรื่อง เห็นแก่ลูก แสดงถึงความรักของพ่อที่มีต่อลูกผ่านพฤติกรรมของตัวละครแต่ละตัว โดยพระยาภักดีนฤนาถ เป็นตัวแทนของบิดาเลี้ยงที่ทำหน้าที่พ่อด้วยความเต็มใจ ดังในตอนที่ยกมาที่ว่า
                   พระยาภักดี : ก็หรือมันไม่จริงเช่นนั้นล่ะ แม่นวลเลือกผัวผิดแท้ทีเดียว เมื่อจะตายหล่อนก็รู้สึก จึงได้มอบแม่ลออไว้ให้เป็นลูกฉันขอให้ฉันเลี้ยงดูให้เสมอลูกในไส้ฉันเองฉันก็ได้ตั้งใจทะนุถนอมแม่ลออเหมือนโลกในอกฉันฉันได้กระทำหน้าที่พ่อตลอดมาโดยความเต็มใจจริงๆแม่ลออคงจะเป็นพยานว่าฉันไม่ได้ก็ทำให้เสียวาจาที่ฉันให้ไว้แก่แม่นวลเลย.
และในอีกตอนหนึ่งที่พระยาภักดียอมที่จะจ่ายเงินจำนวนมากให้นายล้ำเพื่อไม่ให้ได้พบกับแม่ลออ เพราะเกรงว่าแม่ลออจะเกิดความเสื่อมเสียด้านชื่อเสียงเรียงนามว่าเป็นลูกคนขี้คุกขี้ตะราง ความว่า
                   พระยาภักดี : ก็จะพูดกันเสียตรง ๆ เท่านั้นก็จะแล้วกัน เอาเถอะฉันให้แกเดี๋ยวนี้ก็ได้ เท่าไหร่ถึงจะพอ เอาไปสิบชั่งก่อนพไหม?
                   นายล้ำ : ไม่รับประทาน.
                   พระยาภักดี : ยี่สิบชั่ง!
                   นายล้ำ : ไม่รับประทาน!
                   พระยาภักดี : ห้าสิบชั่ง!
                   นายล้ำ : พุทโธ่! เจ้าคุณ! แต่ที่ผมฉิบหายไปในเรื่องค้าฝิ่นนั่นก็เกือบร้อยชั่งเข้าไปแล้ว.
                   พระยาภักดี : เอา! ร้อยชั่งก็เอา!
ส่วนนายล้ำ เป็นตัวแทนของบิดาผู้ให้กำเนิดซึ่งสามารถเปลี่ยนความเห็นแก่ตัวไปเป็นความเห็นแก่ลูกได้ในที่สุด โดยความเห็นแก่ลูก(เห็นแก่ตัว) ดังในตอนหนึ่งว่า
                   นายล้ำ : เจ้าคุณ! ผมจะต้องพูดตามตรง ผมน่ะหมดทางหากินกินแล้ว ไม่แลเห็นทางอื่นนอกจากที่จะอาศัยลูกสาวให้เขาเลี้ยง.
                   พระยาภักดี : อ๋อ! นี่น่ะ แกต้องการเงินยังงั้นหรือ?
                   นายล้ำ : ก็แน่ละ ไม่มีเงินก็อดตายเท่านั้นเอง.
และเมื่อเจอแม่ลออก็ทำให้ใจของนายล้ำเปลี่ยนจากเห็นแก่ลูกเป็นเห็นแก่ลูก ในตอนที่ว่า
                    นายล้ำ : ถ้าใครบอกหล่อนว่า พ่อหล่อนที่ตายไปน่ะเป็นคนไม่ดีละก็หล่อนเป็นไม่ยอมเชื่อเลยเทียวหรือ?
                   แม่ลออ : ดิฉันจะเชื่อยังไง ดูในรูปก็เห็นว่าเป็นคนดี. เออ! นี่คุณพ่อบอกแล้วหรือยังเรื่องดิฉันจะแต่งงาน.

 นอกจากนี้ บทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก ยังแสดงให้เห็นถึงความรักความกตัญญูต่อพ่อของแม่ลออ ที่แม้จะไม่เคยได้พบตัวจริง หรือไม่เคยที่จะได้รับการเลี้ยงดูก็ยังรักและศรัทธาในตัวของผู้เป็นพ่ออยู่เสมอ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีไทยในด้านความกตัญญูกตเวที เป็นคุณธรรมที่สำคัญที่ทำให้สังคมดำรงอยู่ด้วยความสงบสุข สังคมไทยให้ความสำคัญกับความกตัญญูเป็นอย่างมาก สักเกตได้จากขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามทั้งหลายของคนไทยล้วนแต่มีความกตัญญูกตเวทีเป็นพื้นฐานสำคัญ ซึ่ง กตัญญู คือ ความรู้คุณ หมายถึงความเป็นผู้มีใจกระจ่าง มีสติปัญญาบริบูรณ์ รู้อุปการคุณที่ผู้อื่นกระทำแล้วแก่ตนจนทำให้ได้ดีมีสุขอยู่ในปัจจุบันไม่ว่ามากหรือน้อยก็ตาม ย่อมระลึกถึงด้วยความซาบซึ้งอยู่เสมอ (กรมศาสนา,๒๕๒๑ :๑๓)
อ้างอิง
https://sites.google.com/site/onlythai/_/rsrc/1297079819843/c2/charpter01-1/poster03.jpg?height=890&width=573

ความคิดเห็น